คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้คอนแทคเลนส์

  1. ไม่ควรใส่คอนแทคเลนส์เกินวันละ 12 ชั่วโมง โดยในช่วงเวลาอื่นควรใส่แว่นแทน เนื่องจากหลังจากผ่านไป 12 ชั่วโมงการใช้งานแล้วจะเพิ่มโอกาสการติดเชื้อภายในดวงตาขึ้นมาก
  2. ห้ามใส่คอนแทคเลนส์นอนโดยเด็ดขาด เนื่องจากโดยปรกติแล้วดวงตาจะได้รับออกซิเจนผ่านทางน้ำตา การใส่คอนแทคเลนส์นอนจะทำให้กีดขวางการไหลเวียนของน้ำตาภายในดวงตา จึงทำให้บริเวณกระจกตาได้รับออกซิเจนน้อยลง จึงส่งผลให้ดวงตาขาดออกซิเจนได้ (ในรายที่เป็นมากเมื่อาจเกิดเส้นเลือดขึ้นภายในกระจกตาได้)
  3. ควรล้างคอนแทคเลนส์ทุกวัน และควรถูคอนแทคเลนส์ให้ทั่วด้วยปลายนิ้วประมาณ 10-20 ครั้ง แม้ว่าในปัจจุบันจะมีน้ำยาล้างคอนแทคเลนส์หลายชนิดระบุว่าไม่จำเป็นต้องถูก็ตาม เพราะจากการวิจัยพบว่าการถูคอนแทคเลนส์จะช่วยลดการเกาะตัวของคราบโปรตีนและไขมันได้มากถึง 90-95% จึงช่วยให้คอนแทคเลนส์มีความใสและสบายตามากยิ่งขึ้น และยังช่วยลดโอกาสที่จะติดเชื้อภายในดวงตาได้อีกด้วย
  4. ถ้ารู้สึกผิดปรกติกับดวงตา ให้หยุดการใส่คอนแทคเลนส์โดยทันที เพราะถ้าดวงตาอักเสบหรือเกิดการติดเชื้อขึ้นภายในดวงตาการใส่คอนแทคเลนส์จะทำให้อาการผิดปรกติมากขึ้น และอาจเกิดอาการแทรกซ้อนต่างๆ ได้ แต่ถ้าหลังหยุดพักการใส่คอนแทคเลนส์แล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรไปปรึกษาแพทย์โดยทันที
  5. ควรตรวจสอบคอนแทคเลนส์ก่อนใส่ทุกครั้ง หากคอนแทคเลนส์ผิดปรกติ เช่นมีการฉีกขาด ก็ไม่ควรใช้งานต่อเนื่องจากขอบที่ขาดนั้น อาจจะทำให้ดวงตาได้รับอันตรายได้
  6. ไม่ควรใช้น้ำเกลือ แช่หรือล้างทำความสะอาดคอนแทคเลนส์ แทนน้ำยาแช่คอนแทคเลนส์
  7. ไม่ควรใช้คอนแทคเลนส์เกินอายุการใช้งาน และห้ามใช้คอนแทคเลนส์และน้ำยาแช่คอนแทคเลนส์ที่หมดอายุแล้ว
  8. ควรเก็บคอนแทคเลนส์และน้ำยาแช่คอนแทคเลนส์ไว้ที่อุณหภูมิห้อง แต่ห้องต้องไม่ร้อนจนเกินไป (อุณหภูมิห้องควรอยู่ประมาณ 35 องศาเซลเซียส) เพราะจะทำให้คอนแทคเลนส์และน้ำยาหมดอายุก่อนกำหนดได้
  9. หลังจากใช้งานน้ำยาแช่คอนแทคเลนส์แล้ว ก็ควรปิดฝาให้สนิทเสมอ
  10. การใช้เครื่องสำอาง หรือสารเคมีบางชนิดอาจมีผลต่อคอนแทคเลนส์ที่ใส่อยู่ได้ จึงควรระวังเพราะอาจทำให้เกิดปัญหาระคายเคืองในดวงตาได้
  11. ค่า BC ย่อมาจาก Base Curve ซึ่งหมายถึงขนาดส่วนโค้งของคอนแทคเลนส์ ซึ่งควรดูให้เหมาะสมกับดวงตาของผู้ใช้
  12. หากใส่คอนแทคเลนส์แล้วมีอาการเลื่อนหลุด หรือกระพริบตาแล้วเกิดอาการมัวภาพสลับกับภาพชัด อาจเกิดจากคอนแทคเลนส์มีขนาดใหญ่กว่าดวงตาของผู้ใช้ คือมีค่า BC สูงเกินไป อาจแก้ไขโดยทดลองใช้คอนแทคเลนส์ที่มีค่า BC ต่ำลงเล็กน้อย เพื่อให้คอนแทคเลนส์กระชับมากขึ้น แต่ทางที่ดีที่สุด คือ เข้าปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อตรวจวัดค่า BC ของดวงตาแต่ละข้างของคุณ (ค่า BC ของดวงตาแต่ละข้างไม่จำเป็นต้องเท่ากัน)
  13. คอนแทคเลนส์มักเกิดปัญหาเมื่อเจอฝุ่นละออง หรืออากาศที่แห้ง เช่นภายในห้องที่ติดเครื่องปรับอากาศ หากเป็นปัญหาเล็กน้อยอาจใช้น้ำยาหยอดตาช่วยได้ แต่ถ้าเป็นมาก ก็ไม่ควรฝืนใช้คอนแทคเลนส์ โดยแนะนำให้ใช้แว่นสายตาแทนสำหรับผู้มีปัญหาด้านสายตา